ปัญหาการติดโซเชียลของเด็ก

ปัญหาการติดโซเชียลของเด็กไทย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสวนาปัญหาโรคออนไลน์ “รีวิวชีวิตติดสื่อ” ของชาว Gen Z ในงานเปิดตัวโครงการ “ไทยแลนด์ ซุปเปอร์ แคมป์” (THAILAND SUPER CAMP) ค่ายเยาวชนแห่งการพัฒนาตัวเอง ภายใต้โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ โดยกล่าวว่า เด็กยุคเจนแซดเป็นเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเว็บสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก

ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเด็กไทยใช้เวลาติดหน้าจอเฉลี่ย 5 ชั่วโมง/วัน หรือ 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งมากกว่าเด็กต่างประเทศที่เฉลี่ย 2 ชั่วโมง/วัน อีกทั้งปัญหาการติดโซเชียลของเด็กไทยนับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ใช้อุปกรณ์ไอทีในการเลี้ยงลูก ทำให้อีคิวหรือความฉลาดทางด้านอารมณ์ของเด็กลดลง

ปัญหาการติดโซเชียลของเด็ก

เนื่องจากขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากธรรมชาติ รวมถึงเกิดความทุกข์จากการเปรียบเทียบระหว่างชีวิตตนเองและชีวิตเพื่อนในสังคมออนไลน์ที่มีชีวิตดีกว่า จนขาดการยอมรับและนับถือตนเอง ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกว่าด้อยคุณค่าในตัวเอง และอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าจากโลกเสมือนจริงขึ้นได้ สุดท้ายผลการเรียนก็ตกต่ำ มีปัญหาสุขภาพตามมาโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรม อาทิเช่น โรคอ้วน และขั้นหนักสุดจนกระทั่งการฆ่าตัวตาย

พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ ซึ่งพ่อแม่ถือเป็นส่วนสำคัญมากในการสร้างกติกาให้ลูก ว่าสามารถเล่นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้กี่ชั่วโมง/วัน เมื่อครบเวลาต้องเก็บทันที อย่าใจดีใจอ่อนเมื่อลูกโวยวาย รวมถึงมอบความรับผิดชอบให้ลูกดูแล อย่างเช่น งานบ้าน การหากิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกทำ เช่น เล่นกีฬา ดนตรี

ที่สำคัญพ่อแม่ควรปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช่ปากสอนลูกแต่ก็ยังติดโซเชียลเสียเอง ทั้งนี้ การมีลูกติดโซเชียลก็เหมือนมีลูกติดยาเสพติด หากลูกต่อต้านที่พ่อแม่ไปควบคุมการเล่นโซเชียลมีเดีย ก็ต้องพามาพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อประเมินและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งขณะนี้คลินิกวัยรุ่น รพ.รามาฯก็มีจองคิวรักษากันข้ามปี เพราะเด็กและเยาวชนกำลังประสบปัญหานี้กันอย่างมาก

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ mirrorofjustice.net

Releated